Skip to content

วิทยาการคอมพิวเตอร์

วิทยาศาสตร์บัณฑิต

ยินดีต้อนรับสู่หลักสูตรวิทยาการคอมพิวเตอร์
– เมื่อนวัตกรรมพบกับการศึกษา

ภาควิชาคณิตศาสตร์ได้เปิดสอนหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 โดยมุ่งเน้นทั้งความรู้ทางทฤษฎีและการประยุกต์ใช้วิทยาการคอมพิวเตอร์ในโลกจริง

หลักสูตรที่นำความรู้ไปใช้ได้จริง: หลักสูตรในปัจจุบันเป็นหลักสูตรที่ได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัย มุ่งเน้นการก้าวทันโลกที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ปีแรกคุณจะได้เรียนทั้งทฤษฎีและการปฏิบัติ ตลอดหลักสูตรคุณจะมีโอกาสมากมายในการปฏิบัติจริงและทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย

ทักษะรอบด้าน: นอกเหนือจากองค์ความรู้ทางวิชาการ ทางหลักสูตรยังให้ความสำคัญกับทักษะรอบด้าน โดยการผสมผสานการพัฒนาทักษะสำคัญในหลายรายวิชา เช่น การคิดเชิงวิพากษ์ การแก้ปัญหา และการสื่อสาร เพื่อการทำงานให้สำเร็จในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ

อาจารย์ที่มีประสบการณ์: การเรียนรู้จากอาจารย์และนักวิจัยที่มีประสบการณ์จริง จะทำให้คุณได้รับคำแนะนำและความท้าทายที่ทำให้สามารถก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองได้

การเตรียมความพร้อมเข้าสู่ตลาดงาน: การแบ่งปันความรู้จากบริษัทต่าง ๆ ที่เน้นทักษะปฏิบัติที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมจะช่วยเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพของคุณ ที่ผ่านมาบัณฑิตของหลักสูตรเป็นที่ต้องการสูง ได้รับการจ้างงานในบริษัทเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพที่มีชื่อเสียง

โอกาสในการวิจัย: นิสิตตั้งแต่ปีแรกจนถึงปีสุดท้ายได้รับการต้อนรับให้มีส่วนร่วมในโครงการวิจัยที่ใช้จริงในด้านต่าง ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence) วิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data science) คอมพิวเตอร์วิทัศน์ (Computer vision) ชีวสารสนเทศ (Bioinformatics) วิศวกรรมซอฟต์แวร์ (Software engineering) และความปลอดภัยเครือข่าย (Network security) โดยมีคณาจารย์ผู้มีประสบการณ์คอยแนะนำ

ชุมชนที่ร่วมมือกัน: ชุมชนที่หลากหลายของทางหลักสูตรสนับสนุนให้นิสิตร่วมมือกันทั้งในระดับภาควิชาและระดับมหาวิทยาลัย รวมถึงการทำงานกับศิษย์เก่าและผู้เชี่ยวชาญภายนอกทั้งในภาควิชาการและภาคอุตสาหกรรม

มุมมองระดับโลก: การมีส่วนร่วมในโครงการนานาชาติและการศึกษาแลกเปลี่ยนกับสถาบันพันธมิตรในต่างประเทศช่วยเสริมสร้างการเรียนรู้จากมุมมองที่หลากหลาย เพิ่มพูนความเข้าใจและการเตรียมพร้อมสำหรับการทำงานในระดับโลก

ปรัชญาของหลักสูตร

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์มุ่งเน้นให้บัณฑิตมีความรู้ทั้งเชิงกว้างและเชิงลึกในศาสตร์ของวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่สามารถนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร

ผลิตบัณฑิตที่สามารถนำองค์ความรู้ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัลไปประยุกต์ใช้และสร้างนวัตกรรมใหม่ หรือบูรณาการร่วมกับศาสตร์ต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงมีความพร้อมที่จะตอบรับหรือร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีใหม่ที่เกิดขึ้น ทั้งยังมีความสามารถในการศึกษาต่อในศาสตร์ขั้นสูง

หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2566

รายละเอียดหลักสูตร : ระยะเวลาการศึกษา  4 ปี
โปรแกรมหลักสูตร

ก. โปรแกรมเอกเดี่ยว ไม่น้อยกว่า 136 หน่วยกิต

  • แบบที่1 ฝึกงาน
  • แบบที่2 สหกิจศึกษา

ข.   โปรแกรมเอก – โท ไม่น้อยกว่า 136 หน่วยกิต

  • แบบที่1 ฝึกงาน
  • แบบที่2 สหกิจศึกษา

ค.   โปรแกรมเกียรตินิยม ไม่น้อยกว่า 137 หน่วยกิต

  • แบบ 1 ฝึกงาน
หมวดวิชา  โปรแกรมเอกเดี่ยว
จำนวน 136 หน่วยกิต
 โปรแกรมเอกโท
จำนวน 136 หน่วยกิต
 โปรแกรมเกียรตินิยม
จำนวน 137 หน่วยกิต
หมวดวิชาศึกษาทั่วไป 30 30 30
–    กลุ่มวิชาสังคมศาสตร์  3 3 3
–    กลุ่มวิชามนุษยศาสตร์  3 3 3
–    กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์  3 3 3
–    กลุ่มวิชาสหศาสตร์  3 3 3
–    กลุ่มวิชาภาษา  12 12 12
–    กลุ่มวิชาศึกษาทั่วไปกลุ่มพิเศษ 6 6 6
หมวดวิชาเฉพาะ 100 100 101
–   วิชาพื้นฐานวิทยาศาสตร์ 12 12 12
–   กลุ่มวิชาเอก   – 73  –
–   วิชาแกน  14 14 14
–    วิชาเฉพาะด้าน 39 39 39
–    วิชาบังคับเลือก 3 3 13
–    วิชาเลือก  24 9 15
–  วิชาประสบการณ์ภาคสนาม  8 8 8
   -แบบที่ 1 ฝึกงาน 8 8 8
   -แบบที่ 2 สหกิจศึกษา 8 8  –
–      กลุ่มวิชาโท ไม่น้อยกว่า    – 15  –
หมวดวิชาเลือกเสรี 6 6 6

หลักสูตรวิทยาการคอมพิวเตอร์ของเราไม่ได้เพียงแค่สอนเทคโนโลยีเท่านั้น
แต่เรากำลังสร้างผู้มีความคิดริเริ่มและนักแก้ปัญหาในอนาคต

โอกาส

การศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์เปิดโอกาสการทำงานที่หลากหลาย ตัวอย่างโอกาสในการทำงานหลังจากสำเร็จการศึกษามีดังต่อไปนี้

  1. นักพัฒนาซอฟต์แวร์, นักพัฒนาเว็บ และนักพัฒนาแอปพลิเคชันมือถือ ออกแบบ พัฒนา และบำรุงรักษาซอฟต์แวร์ / แอปพลิเคชันเว็บสำหรับแพลตฟอร์มและอุตสาหกรรมต่าง ๆ
  2. ผู้ดูแลฐานข้อมูล จัดการและจัดระเบียบฐานข้อมูล เพื่อให้มั่นใจว่าการเก็บข้อมูลและการเรียกค้นมีประสิทธิภาพและปลอดภัย
  3. วิศวกรเครือข่าย ออกแบบ ดำเนินการ และจัดการเครือข่ายคอมพิวเตอร์สำหรับองค์กร เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการเชื่อมต่อที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย
  4. นักวิเคราะห์ระบบ วิเคราะห์และปรับปรุงระบบคอมพิวเตอร์สำหรับธุรกิจ เพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการทำงานและขั้นตอนการทำงาน
  5. วิศวกรประกันคุณภาพ รับรองคุณภาพและความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ด้วยการการทดสอบและการตรวจจับข้อผิดพลาด
  6. สถาปนิกโซลูชั่นบนคลาวด์ ออกแบบและดำเนินการหาโซลูชั่นบนคลาวด์ที่เหมาะสมสำหรับองค์กร
  7. ที่ปรึกษาด้านไอที ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีแก่องค์กร เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ทางธุรกิจและช่วยในการแก้ไขปัญหาด้านไอที
  8. นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล / นักวิเคราะห์ข้อมูล วิเคราะห์และแปลความหมายชุดข้อมูลที่ซับซ้อน หาประเด็นที่น่าสนใจเชิงข้อมูล และตัดสินใจโดยอิงข้อมูล
  9. วิศวกรปัญญาประดิษฐ์ / การเรียนรู้ของเครื่อง พัฒนาระบบที่สามารถเรียนรู้และตัดสินใจได้ในศาสตร์ต่าง ๆ เช่น การประมวลผลภาษาธรรมชาติ คอมพิวเตอร์วิทัศน์ หรือการวิเคราะห์เชิงพยากรณ์
  10. นักวิจัย/นักวิทยาศาสตร์ ทำวิจัยที่ล้ำสมัยทางวิทยาการคอมพิวเตอร์ ในสถาบันการศึกษาหรือองค์กรที่มุ่งเน้นการวิจัย

เนื่องจากสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ยังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จึงเปิดโอกาสให้กับผู้สำเร็จการศึกษาในหลากหลายเส้นทาง ทั้งนี้ ผู้เรียนสามารถสำรวจเส้นทางต่าง ๆ ของวิทยาการคอมพิวเตอร์ได้ตามความสนใจส่วนตัวและความเชี่ยวชาญระหว่างที่ศึกษาในหลักสูตร